วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

เกาะเกร็ด [ งานกลุ่ม ]

เกาะเกร็ด

ความเป็นมา
เกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนที่เป็นแหลม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2265 เรียกว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้นเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ
เกาะเกร็ดมีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้ว่าวัดวาอารามต่างๆบนเกาะส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แต่หลังจากกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญที่เข้ารีตมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวมอญบนเกาะเกร็ดนั้นมีทั้งที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ 2 การคมนาคมบนเกาะจะใช้จักรยานเพื่อให้เหมาะกับขนาดของเกาะ



การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว จากห้าแยกปากเกร็ดให้ตรงไปท่าน้ำปากเกร็ดประมาณ1กม. จะเห็นป้ายบอกทางเข้าวัดสนามเหนือให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 500 ม.จอดรถไว้ที่วัดสนามเหนือ แล้วลงเรือข้ามฟากที่ท่าเรือวัดสนามเหนือไปเกาะเกร็ดค่าเรือ2 บาท
รถประจำทาง สาย 32, 51, 52, 104, ปอ. 5 และ ปอ. 6 ไปลงท่าน้ำปากเกร็ด แล้วเดินไปวัดสนามเหนือ หรือนั่งสามล้อถีบ แล้วลงเรือข้ามฟากไปเกาะเกร็ด

การนั่งเรือชมธรรมชาติ
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Ecotourism
นั่งเรือรอบเกาะเกร็ด
มีเรือข้ามฟากที่วัดสนามเหนือ ข้ามมาที่ท่าน้ำวัดปรมัยยิกาวาส หากจะนั่งเรือรอบเกาะ มีเรือหางยาว นั่งได้ประมาณ 8 คน เหมาลำลำละ 500 บาท แต่แวะคลองขนมหวาน ราคา 700 บาท เรือเล็กเช่าจากปากเกร็ด เข้าคลองขนมหวาน ราคา 150 – 200 บาท ล่องเรือชมวัด ชุมชนมอญเกาะเกร็ด (ใช้เวลาครึ่งวัน)
นั่งเรือชมรอบเกาะ เพื่อสัมผัสความงดงามของบ้านเรือน และวัดสำคัญของชุมชนชาวมอญ รวมทั้งความร่มรื่นเขียวขจีของเรือกสวน แวะเข้าไปชมการทำขนมไทยที่คลองขนมหวาน จากนั้น ชมเส้นทางเครื่องปั้นดินเผาอันเลื่องชื่อของเกาะเกร็ด แล้วอิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้านแบบมอญก่อนเดินทางกลับ

ปั่นจักรยานเที่ยวเกาะเกร็ด
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและกีฬา Health and Sport Tourism
เดินเที่ยว – เกาะเกร็ดเป็นเกาะเล็กๆ สถานที่ท่องเที่ยวก็ตั้งติดๆ กัน สามารถเดินไปตามทางได้เรื่อย แดดไม่ร้อนมากค่ะ ลมแม่น้ำก็พัดเย็นสบาย ถ้าเหนื่อยก็แวะพักซื้อขนม หรือแวะนั่งร้านอาหารริมน้ำ สถานที่แต่ลแห่งก็อยู่ใกล้ๆ กัน ระยะเดินถึงค่ะ แต่อย่าคิดจะเดินรอบเกาะนะคะ หลายกิโลอยู่
ปั่นจักรยานรอบเกาะ – ค่าเช่าจักรยานคันละ 40 บาท มีให้เช่า 2 จุดคือ ท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาส และเท่าเรือวันป่าฝ้าย ขาไปปั่นสบายลมเย็น ขากลับปั่นจะเอียงเพราะตะกร้าจักรยานเต็มไปด้วยขนมและของกิน แต่สนุกมาก ได้เที่ยวแล้วก็ได้ออกกำลังกายไปในตัว พอปั่นช่วงคนคึกคักอาจจะต้องมีลงมาจูงจักรยานบ้าง

วัดไผ่ล้อม
การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม Culture Tourism
วัดไผ่ล้อม เป็นวัดที่สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเกร็ด มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลาย หน้าบันจำหลัก ไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์ รูปทรง แปลก ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง แต่องค์ระฆังทำเป็นรูปบาตรคว่ำ มียอดทรงกลม ประดับลายปูน ปั้นอย่างสวยงามมาก คนมอญเรียกวัดนี้ว่า "เพี๊ยะโต้"
วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร
การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม Culture Tourism
วัดปรมัยยิกาวาสเป็นวัดโบราณ น่าจะสร้างหลังจากพระเจ้าท้ายสระทรงโปรดให้ขุดคลอง เมื่อ พ.ศ. 2264 ชาวเรือเรียก วัดปากอ่าว จนปี พ.ศ. 2307 พม่าบุกยึดเมืองนนทบุรี กลายเป็นวัดร้างเมื่อปี พ.ศ. 2317 ชาวมอญที่อพยพมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ คนมอญเรียกว่า "เภี่ยมู้เกี้ยเติ้ง"
วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร มีประเพณีของเมืองสืบมาว่า เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีย้ายมาดำรงตำแหน่งใหม่ ได้จัดพิธีรับอย่างเป็นทางการพร้อมมีพิธีนมัสการพระพุทธรูปประจำเมืองนนทบุรีที่วัดแห่งนี้ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรีประดิษฐานอยู่ในตู้กระจก ใต้พาไล ด้านหลังพระวิหารแห่งนี้ด้วย วัดมอญเก่าแก่แห่งนี้มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงามากมาย ทั้งยังมีม้านั่งสำหรับชมทัศนียภาพอันสวยงาม

วิถีชีวิตชาวมอญในเกาะเกร็ด
การท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสชาติพันธ์และวัฒนธรรมพื้นถิ่น Ethic Tourism
วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนชาวมอญ คือมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวนผลไม้ มีความชำนาญงานฝีมือด้านงานปั้นดินเผา ประเภทเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ โอ่ง อ่าง หม้อน้ำมีหลายขนาดตกแต่งแบบเรียบง่าย หรืออาจมีการแกะสลักลวดลายบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของสมาชิกในครอบครัวและชุมชน กอปรกับพื้นที่บริเวณเกาะเกร็ดมีแหล่งดินที่เหมาะสมต่อการทำเครื่องปั้นดินเผา จึงทำให้การสืบทอดความรู้นี้ยาวนานจนถึงลูกหลานชาวไทยเชื้อสายมอญในปัจจุบัน

เครื่องปั้นดินเผา
การท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา Educational Tourism
เครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ด เป็นประเภทไม่เคลือบเนื้อดิน และส่วนใหญ่เป็นสีส้มอ่อนจนถึงสีแดง จุดเด่นคือการมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ได้แก่ การแกะสลักหรือฉลุลายอย่างวิจิตรบรรจง การปั้นรูปทรงและองค์ประกอบ ซึ่งแสดงถึงการสืบทอดศิลปะของชาวมอญแต่โบราณ



ขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผา
1. นำดินเหนียวมากองไว้เตรียมใช้งานเรียกว่า กองดิน
2. ซอยดินเหนียว แล้วนำไปพรมน้ำหมักค้างคืน โดยใช้ใบตองแห้งคลุมให้ดินชุ่มน้ำพอเหมาะ
3. ปั้นดินที่หมักเป็นก้อนๆ ยาวประมาณ 1 ศอกนำไปวางไว้ในลานวงกลมแล้วใช้ควายย่ำให้ทั่ว เรียกว่า นวดดิน ปัจจุบัน พัฒนามาเป็นการใช้เครื่องนวดแทนควาย
4. นำดินที่นวดแล้วมาตั้งเป็นกองใหญ่ แล้วเหยียบให้เป็นกองแบนลง ถ้าพบเศษวัสดุอะไรในดินก็หยิบออกมาแล้วนำผ้ามาคลุมดินไว้เพื่อรอการนำดินมาใช้ในการปั้นต่อไป
5. นำดินมาปั้นเป็นแท่งกลมยาวเพื่อขึ้นรูป โดยขึ้นรูปบนแป้นหมุน เรียกว่า ก่อพิมพ์ เป็นการปั้นครึ่งล่างของภาชนะที่ปั้น
6. นำครึ่งล่างที่ปั้นเสร็จแล้วไปผึ่งให้หมาดๆ แล้วนำมาปั้นต่อให้เสร็จตามรูปแบบที่ต้องการ
7. นำมาผึ่งให้หมาดๆ แล้วนำไปขัดผิวให้เรียบโดยใช้ลูกสะบ้าขัด ทำให้ผิวเรียบและมันแล้วนำไปตากให้แห้ง
8. นำภาชนะที่ปั้นเรียนร้อยแล้วและแห้งดีแล้วไปเข้าเตาเผา ซึ่งเป็นเตาก่อด้วยอิฐ
9. ในการเผาจะใช้เวลาประมาณ 2 คืน 3 วัน และต้องคอยใช้ฟืนในเตาเผาตลอดทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ได้ความร้อนสม่ำเสมอและทำให้ดินสุกได้ทั่วถึง
10. เมื่อเผาได้ตามที่กำหนดเวลาต้องงดใส่ไฟ แล้วปล่อยทิ้งไว้ในเตาเผา 2 คืน โดยค่อยๆ เปิดช่องว่างเพื่อค่อยๆระบายความร้อนเรียกว่า แย้มเตา
11. นำภาชนะที่เผาเรียนร้อยแล้วออกจากเตาคัดเลือกชิ้นที่มีสภาพดีนำไปจำหน่าย

ขนมไทย
การท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา Educational Tourism
ขนมไทย มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยคือ มีความละเอียดอ่อนประณีตในการเลือกสรรวัตถุดิบ วิธีการทำ ที่พิถีพิถัน รสชาติอร่อยหอมหวาน สีสันสวยงาม รูปลักษณ์ชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีการรับประทานที่ปราณีตบรรจงของขนมแต่ละชนิด ซึ่งยังแตกต่างกันไปตามลักษณะของขนมชนิดนั้นๆ
ในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระสำคัญเท่านั้น เป็นต้นว่างานทำบุญ เทศกาลสำคัญ หรือต้อนรับแขกสำคัญ เพราะขนมบางชนิดจำเป็นต้องใช้กำลังคนอาศัยเวลาในการทำพอสมควร ส่วนใหญ่เป็น ขนมประเพณี เป็นต้นว่า ขนมงาน เนื่องในงานแต่งงาน ขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมครก ขนมถ้วยฯลฯ ส่วนขนมในรั้วในวังจะประณีตวิจิตรบรรจงในการจัดวางรูปทรงขนมสวยงาม
ขนมไทยที่นิยมทำกันทุกๆ ภาคของประเทศไทย ในพิธีการต่างๆ เนื่องในการทำบุญเลี้ยงพระ ก็คือขนมจากไข่ และมักถือเคล็ดจากชื่อและลักษณะของขนมนั้นๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีการเลี้ยงพระกับแขกที่มาในงาน เพื่อเป็นศิริมงคลของงาน ขนมก็จะมีฝอยทอง เพื่อหวังให้อยู่ด้วยกันยืดยาว มีอายุยืน ขนมชั้นก็ให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน ขนมถ้วยฟูก็ขอให้เฟื่องฟู ขนมทองเอกก็ขอให้ได้เป็นเอก เป็นต้น

ขั้นตอนการทำขนม
ขนมฝอยทอง
ส่วนผสม
น้ำเชื่อม, ไข่เป็ด, น้ำตาลทราย, น้ำค้างไข่, น้ำลอยดอกมะลิ,ไข่ไก่
วิธีทำ
1. น้ำตาลทราย น้ำ ตั้งไฟพอเดือดน้ำตาลละลาย
2. ยกลงกรองด้วยผ้าขาวบาง ตั้งไฟเคี่ยวต่อ
3. ให้น้ำเชื่อมมีลักษณะไม่ข้นหรือใสเกินไป เหมาะสำหรับโรยฝอยทอง
4. ตอกไข่ แยกไข่ขาวออกใช้แต่ไข่แดง และเก็บน้ำไข่ขาวที่ใสไม่เป็นลิ่ม เรียกน้ำค้างไข่
5. นำไข่แดงใส่ผ้าขาวบางรีดเยื่อไข่ออก ผสมไข่แดงกับน้ำค้างไข่ตามส่วน คนให้เข้ากัน
6. เตรียมกระทะทองใส่น้ำเชื่อมเดือด ๆ ไว้ ทำกรวยด้วยใบตอง หรือใช้กรวยโลหะใส่
7.ไข่แดงโรยในน้ำเชื่อมเดือด ๆ ไปรอบ ๆ ประมาณ 20-30 รอบ เส้นไข่สุกใช้ไม้แหลม
8. สอยขึ้นจากน้ำเชื่อม พับเป็นแพ อบด้วยควันเทียนหลังจากเย็นแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น